คำซ้ำ เป็นการซ้ำคำมูลเดิม ความหมายของคำซ้ำอาจเหมือนคำมูลเดิม หรืออาจมีน้ำหนักมากขึ้นหรือเบาลง หรือแสดงความเป็นพหูพจน์ เช่น เขียว ๆ แดง ๆ ไกล ๆ มาก ๆ น้อย ๆ ช้า ๆ เร็ว ๆ ดัง ๆ ถี่ ๆ ห่าง ๆ จริง ๆ เพื่อน ๆ หลาน ๆ ฯลฯ
คำซ้ำในคำซ้อน เป็นการนำคำซ้อนมาแยกแล้วซ้ำคำมูลแต่ละคำ คำซ้ำในคำซ้อนอาจมีความหมายเท่าคำซ้อนเดิม หรือมีความหมายหนักขึ้น หรือเบาลง หรือแสดงความเป็นพหูพจน์ หรือมีความหมายเปลี่ยนไปจากเดิมมาก
คำซ้ำ คือ การนำคำมูลมากล่าวซ้ำ 2 ครั้ง เมื่อเขียนนิยมใช้ไม้ยมกแทนคำหลัง
ตัวอย่างคำซ้ำในคำซ้อน
ผัว ๆ เมีย ๆ (ความหมายเท่าผัวเมีย)
สวย ๆ งาม ๆ (ความหมายเท่าสวยงาม)
ดึก ๆ ดื่น ๆ (ความหมายหนักกว่าดึกดื่น)
ด้อม ๆ มอง ๆ (ความหมายเบาลงกว่าด้อมมอง)
ลูก ๆ หลาน ๆ (ความหมายแสดงจำนวนมากกว่าลูกหลาน)
รูปลักษณ์ของคำซ้ำ
เขียนเหมือน
อ่านเหมือน
ความหมายเหมือน
เป็นคำชนิดเดียวกัน
ทำหน้าที่เดียวกัน
อยู่ในประโยคเดียวกัน
ตัวอย่างประโยคที่มีรูปลักษณ์ของคำซ้ำ
ฉันมีเพื่อน ๆ เป็นคนต่างจังหวัด
ลูก ๆ ของพระยาพิชัยรับราชการทุกคน
ฉันเห็นเธอพูด ๆ ๆ อยู่นั่นแหละ
พวกเราเข้าไปนั่ง ๆ ฟังเสียหน่อย เกรงใจเจ้าภาพ
ฉันไม่ได้ตั้งใจดูเขาหรอก แต่รู้สึกว่าเขามีผิวสีดำ ๆ
วิเคราะห์
คำว่า เพื่อน ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำนาม ทำหน้าที่เป็นกรรมของประโยคและอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า ลูก ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำนามเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นประธานของประโยค และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า พูด ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำกริยาเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นกริยาของประโยคย่อย และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า นั่ง ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำกริยาเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นกริยาแท้ของประโยค และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
คำว่า ดำ ๆ เป็นคำซ้ำ เพราะเขียนเหมือนกัน อ่านเหมือนกัน ความหมายเหมือนกัน ซึ่งเป็นคำวิเศษณ์เหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นวิเศษณ์ของประโยค และขยายคำนาม และอยู่ในประโยคเดียวกัน จึงเรียกว่า คำซ้ำ
วิธีการซ้ำคำ
นำคำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์มากล่าวซ้ำ เช่น เด็ก ๆ เรา ๆ กิน ๆ
นำคำที่ซ้ำกัน 2 คำมาซ้อนกัน แต่คำคู่นั้นจะต้องมีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น สวย ๆ งาม ๆ เรา ๆ ท่าน ๆ เป็น ๆ หาย ๆ
นำคำซ้ำกัน โดยเปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ เพื่อเน้นความหมาย เช่น ซ้วยสวย ดี๊ดี เจ็บใจ๊เจ็บใจ ดีใจ๊ดีใจ
ความหมายของคำซ้ำ
การซ้ำคำทำให้เกิดความหมายแตกต่างกันไปในลักษณะต่าง ๆ กัน ดังนี้
ซ้ำคำทำให้เป็นพหูพจน์ แสดงถึงจำนวนมากกว่าหนึ่ง เช่น
เด็ก ๆ ไปโรงเรียน (หมายถึงเด็กหลายคน)
ใคร ๆ ก็มาทั้งนั้น (หมายถึงคนหลายคน)
ซ้ำคำเพื่อแสดงการแยกจำนวน เช่น
ทำให้เสร็จเป็นอย่าง ๆ ไป (หมายถึงทีละอย่าง)
ครูตรวจการบ้านนักเรียนเป็นคน ๆ (หมายถึงทีละคน)
ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายเป็นกลาง ๆ เช่น
ผ้าดี ๆ อย่างนี้หาซื้อไม่ได้
ฉันไม่ซื้อปลาเป็น ๆ มาทำกับข้าว
แต่ถ้าต้องการเน้นน้ำหนักให้เปลี่ยนเสียงวรรณยุกต์ ในกรณีเป็นภาษาพูด เช่น
เสื้อตัวนี้ซ้วยสวย
ไปทำอะไรมาตัวด๊ำดำ
ซ้ำคำเพื่อแสดงความหมายโดยประมาณหรือไม่เจาะจง เช่น
เธอมาหาฉันแต่เช้า ๆ หน่อย (ไม่เจาะจงเวลา)
เขาเดินอยู่แถว ๆ บางเขน (ไม่เจาะจงว่าสถานที่ใด)
เขาทำอะไรผิด ๆ อยู่เสมอ (ไม่เจาะจงว่าผิดอะไร)
ซ้ำคำเพื่อให้เป็นคำสั่ง มักเน้นคำขยายหรือบุพบท เช่น
ทำดี ๆ นะ (ซ้ำคำขยาย)
เดินเร็ว ๆ (ซ้ำคำขยาย)
นั่งใน ๆ (ซ้ำคำบุพบท)
ซ้ำคำเพื่อแสดงกิริยาว่าทำติดต่อกันไปเรื่อย ๆ และจะเน้นคำที่กริยา
เขาพูด ๆ อยู่ก็เป็นลม
เขายืน ๆ อยู่ก็ถูกจับ
ซ้ำคำเพื่อแสดงลักษณะส่วนใหญ่ในกลุ่มหรือในหมู่คณะ เช่น
มีแต่ของเก่า ๆ กินแต่ของดี ๆ มีแต่คนเลว ๆ
ซ้ำคำเพื่อแสดงอาการหรือเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน เช่น
ฝนตกปรอย ๆ
เด็กวิ่งตั๊ก ๆ
ปลาดิ้นพราด ๆ
ซ้ำคำเลียนเสียงธรรมชาติ ได้แก่
เสียงสัตว์ร้อง เช่น เหมียว ๆ โฮ่ง ๆ กุ๊ก ๆ
เสียงเด็กร้องได้ เช่น อุแว้ ๆ แง ๆ
เสียงธรรมชาติ เช่น โครม ๆ ซู่ ๆ เปรี้ยง ๆ
ซ้ำคำทำให้เกิดความหมายใหม่ เช่น
เดี๋ยว ๆ เขาก็มองออกไปทางประตู
อยู่ ๆ ก็ลุกขึ้นกระโดด (ไม่มีสาเหตุ)
ของพื้น ๆ อย่างนี้ใครก็ทำได้ (ของธรรมดา)
เรื่องผี ๆ ไม่น่าฟัง (ไม่ดี)
ทำอะไรลวก ๆ (หยาบ)
ความมุ่งหมายในการสร้างคำซ้ำ
ซ้ำเพื่อเน้นความหมายเดิมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คำซ้ำประเภทนี้มักจะเป็นคำวิเศษณ์ เช่น ดัง ๆ วุ่น ๆ ค่อย ๆ
ซ้ำเพื่อบอกความหมายของเวลาหรือสถานที่โดยประมาณ เช่น ใกล้ ๆ ข้าง ๆ ดึก ๆ เช้า ๆ
ซ้ำเพื่อบอกความหมายเป็นเอกพจน์ ซึ่งคำซ้ำชนิดนี้มักสร้างจากคำลักษณะนาม เช่น เรื่อ ๆ ส่วน ๆ ชิ้น ๆ
ซ้ำเพื่อบอกความหมายเป็นพหูพจน์ เช่น เพื่อน ๆ เด็ก ๆ
ซ้ำเพื่อบอกความหมายกว้างออกไป เช่น นั่ง ๆ นอน ๆ
ซ้ำเพื่อให้เกิดความหมายใหม่ เช่น หมู ๆ พื้น ๆ